งานที่4 วิถีจัดการความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
วิถีจัดการความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
1. พิจารณาตนเอง
เมื่อพูดถึง ความขัดแย้งในที่ทำงาน บางคนเมื่อมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน มักกล่าวว่าเป็นเพราะอคติที่เพื่อนร่วมงานมีต่อตน โดยลืมพิจารณาไปว่าตัวเองมีข้อบกพร่องหรือไม่ บางคนอาจพูดจาขวานผ่าซากจนเพื่อนร่วมงานขยาด ไม่อยากเข้าใกล้ ในขณะที่บางคนอาจเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ สร้างความลำบากใจให้เพื่อนร่วมงาน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น สิ่งแรกที่เราพึงกระทำคือการหันมาพิจารณาตนเองว่ามีข้อเสียอย่างไรบ้าง แล้วเริ่มต้นปรับที่ตัวเองก่อน เพราะวิธีนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเพื่อนร่วมงานได้ในที่สุด
2. มองข้ามไปเสียบ้าง
คนบางคนเก็บเอาคำพูด และการกระทำของเพื่อนร่วมงานไปตีความ จนคิดเลยเถิดไปว่าเขาไม่ชอบเรา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กิริยาท่าทางเช่นนั้น อาจเป็นนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้มีนัยแอบแฝง ดังนั้น จึงควรรู้จักมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปเสียบ้าง แล้วหันไปทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างสรรผลงาน และพัฒนาองค์กรจะดีกว่า
3. ร้ายมา ต้อง(ไม่)ร้ายตอบ
บางครั้งความเกลียดชังและ ความขัดแย้งในที่ทำงาน อาจเกิดขึ้นเพราะเพื่อนร่วมงานยังไม่รู้จักคุณดีพอ จึงตัดสินคุณจาก ความคิดและอคติ ที่พวกเขามี ดังนั้น หากคุณโต้ตอบด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตร หรือด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ก็อาจทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การผูกมิตร ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการชวนคุย ชวนไปกินข้าว หรือซื้อขนมมาแบ่งปันกัน แม้ว่าอาจถูกปฏิเสธ ในช่วงแรกๆ แต่ถ้าหากทำอย่างจริงใจไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าอีกฝ่ายสามารถรับรู้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ทำให้เขารู้สึกไม่เป็นมิตรเพิ่มขึ้น
4. ขจัดอคติ
โดยปกติหากเรารู้ว่าใครไม่ชอบเรา เราก็มักเกิดความรู้สึกด้านลบกับคน ๆ นั้นโดยอัตโนมัติ อคติเช่นนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยิ่งแย่ลง ดังนั้น ถ้าหากเราปรับที่ผู้อื่นไม่ได้ เราก็ต้องปรับที่ใจของตนเองโดยการขจัดอคติที่เกิดขึ้นภายในใจออกไป หากรู้ว่าการคิดร้ายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เราก็ต้องไม่คิดร้ายกับผู้อื่น และพุ่งเป้าหมายไปที่ผลสัมฤทธิ์ของงาน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
5. เป็นมืออาชีพ
บางคนเมื่อถูกนินทาว่าร้ายมากๆ ก็ร้องไห้ฟูมฟาย บ้างก็หลบลี้หนีหน้าไม่มาทำงาน การทำเช่นนี้รังแต่จะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดียิ่งได้ใจ และเดินหน้าทำร้ายคุณด้วยคำพูด และการกระทำมากยิ่งขึ้น แต่ที่แย่ที่สุดคือเป็นการแสดงความไม่เป็นมืออาชีพของคุณอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อประสบปัญหา คุณต้องเข้มแข็ง และเดินหน้าทำหน้าที่ของตนเองต่อไปให้ดีที่สุด บางครั้ง คุณอาจต้องเผชิญหน้ากับผู้ไม่หวังดี และพูดคุยแบบเปิดใจเพื่อสอบถามถึงสาเหตุ และปรับทัศนคติที่มีต่อกัน
6. แจ้งหัวหน้าให้ทราบ
หากคุณทำทุกวิธีข้างต้นมาหมดแล้ว แต่ ความขัดแย้งนั้นก็ยังไม่คลี่คลาย อาจต้องอาศัยคนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า เข้ามาช่วยเหลือ อย่ากลัวถูกมองเป็น “คนขี้ฟ้อง” เพราะการเก็บงำปัญหาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้ความสุขในการทำงานหมดลง
ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณจึงควรรีบแจ้งหัวหน้าให้ทราบเพื่อเรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย ก่อนที่ปัญหาจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน และทำให้ทัศนคติที่คุณมีต่อเพื่อร่วมงานยิ่งเลวร้ายลงไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น